ศาลพระภูมิ คือ อะไร ?

ความเชื่อเรื่องศาลพระภูมิ

ประวัติความเป็นมาของพระภูมิชัยมงคล - ศาลพระภูมิ

 

ตั้งแต่อดีต คนไทยมีความเชื่อที่ผูกกับการปลูกบ้าน เมื่อสร้างบ้านเสร็จต้องเชิญพราหมณ์หรือผู้ที่มีความรู้ด้านการตั้งศาลมาเชิญเทพให้มาสถิตที่เจว็ดในศาลพระภูมิ เพื่อขอพรบันดาลให้เกิดโชคลาภและความสุขแก่ผู้อยู่อาศัย โดยตำนานของศาลพระภูมิ เล่าถึงกษัตริย์ท้าวทศราช มีมเหสีชื่อพระนางสันทาทุกข์ ครอบครองกรุงพลี มีโอรส 9 พระองค์ แต่ละพระองค์มีความสามารถ จึงส่งไปรักษาถิ่นฐานต่างๆ ได้แก่

1. พระชัยมงคล ถูกส่งไปรักษาบ้านเรือน ร้านค้า โรงหอค้าต่างๆ
2. พระนครราช ถูกส่งไปรักษาประตูเมือง ป้อม และค่าย
3. พระเทเพน ถูกส่งไปรักษาคอกสัตว์ โรงช้างม้า วัวควาย
4. พระชัยศพณ์ ถูกส่งไปรักษายุ้งฉางข้าว เสบียงคลัง
5. พระคนธรรพ์ ถูกส่งไปรักษาเรือนหอบ่าวสาว
6. พระธรรมโหรา ถูกส่งไปรักษาไร่ นา ทุ่ง ลาน ป่าเขา
7. พระเทวเถร ถูกส่งไปรักษาอาราม วัด วิหาร ปูชนียสถานต่างๆ
8. พระธรรมิกราช ถูกส่งไปรักษาอุทยาน และสวนผลไม้
9. พระทาษธารา ถูกส่งไปรักษา ห้วย หนอง คลอง บึง และแม่น้ำ

ฤกษ์ตั้งศาลพระภูมิ

 

การดูฤกษ์ตั้งศาลพระภูมินั้น พราหมณ์หรือผู้ตั้งศาลจะดูฤกษ์ยาม และทิศทางตั้งศาล บนพื้นที่ดินของผู้อยู่อาศัย ดูทิศที่ควรหันหน้าศาล โดยฤกษ์ในการทำพิธียกศาลพระภูมิ มี 4 ฤกษ์ ดังนี้

1. ภูมิปาโลฤกษ์ เป็นฤกษ์ของพระภูมิผู้รักษาแผ่นดิน คือฤกษ์ที่ 4, 13 และ 22
2. เทวีฤกษ์ เป็นฤกษ์นางพญา เสน่ห์นิยม คือฤกษ์ที่ 6, 15 และ 24
3. มหัทธโนฤกษ์ เป็นฤกษ์คหบดีผู้มั่งคั่ง คือฤกษ์ที่ 2, 11, 20
4. ราชาฤกษ์ เป็นฤกษ์ผู้ยิ่งใหญ่สูงส่ง คือฤกษ์ที่ 8, 17 และ 26

ฤกษ์ห้ามตั้งศาลพระภูมิ มีดังนี้

เดือน 1 - วันพฤหัสบดี และวันเสาร์
เดือน 2 - วันพุธ และวันศุกร์
เดือน 3 - วันอังคาร
เดือน 4 - วันจันทร์
เดือน 5 - วันพฤหัสบดี และวันเสาร์
เดือน 6 - วันพุธ และวันศุกร์
เดือน 7 - วันอังคาร
เดือน 8 - วันจันทร์
เดือน 9 - วันพฤหัสบดี และวันเสาร์
เดือน 10 - วันพุธ และวันศุกร์
เดือน 11 - วันอังคาร
เดือน 12 - วันจันทร์

วิธีตั้งศาลพระภูมิ

การทำพิธีตั้งศาลพระภูมิใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ไม่รวมการเตรียมการที่ใช้เวลาล่วงหน้า 1 วัน หลังจากได้ฤกษ์แล้วก็ต้องขุดหลุมเตรียมลงเสา และทำพิธีอัญเชิญเจว็ดขึ้นศาล ดังนี้

1. ดูฤกษ์ยาม
พราหมณ์หรือผู้ตั้งศาลจะดูฤกษ์ยาม และวันตั้งศาลให้ โดยในแต่ละเดือนมีฤกษ์และวันห้ามตั้งศาลที่ไม่เหมือนกัน
2. ขุดหลุมเตรียมเสา
ก่อนตั้งศาลต้องขุดหลุมเตรียมศาล โดยผู้ทำพิธีจะแจ้งว่าให้ขุดตรงไหน ลงฐานศาลพระภูมิทิศไหน และตรวจสอบความเรียบร้อยทั้งหมดในช่วงเย็น เพื่อให้วันต่อมาทำพิธีตั้งศาลพระภูมิได้ตามฤกษ์
3. ตั้งเครื่องสังเวย
เตรียมเครื่องสังเวย ตั้งโต๊ะบูชาตามความเชื่อ โดยปูผ้าขาว ตั้งเครื่องสังเวย เตรียมธูปเทียน ผ้าแพร 3 สี สำหรับตาดเสา
4. เชิญเจว็ดขึ้นศาล
เมื่อถึงฤกษ์เทปูน เชิญตัวแทนพระภูมิ เรียกว่า “เจว็ด” เป็นรูปเทวดายืนด้วยไม้ อยู่ในรูปพัทธสีมา อันเป็นตัวแทนของพระภูมิ เชิญเจว็ดขึ้นศาล ไหว้เทวดา และออกชื่อพระภูมิ ผู้ตั้งศาลประนมมือกล่าวคาถา

 

"ยัสสานุสสะระเณนาปิ อันตะลิกเข ปิปาณิโน
ปะติฏฐะมะธิคัจฉันติ ภูมิยัง วิยะ สัพพะทา
สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจราทิสัมภะวา
คะณะนา นะจะ มุตตานัง ปะริตตันตัม ภะณามะเห"

5. ตักเครื่องสังเวยใส่กระทง
หลังจากเชิญเจว็ดขึ้นศาลแล้ว เมื่อขอพรเสร็จก็นำเครื่องสังเวยใส่กระทง นำไปตั้งไว้บนที่ดินศาล แล้วนำผ้าแพร 3 สีผูกที่เสาพระภูมิ

ของไหว้ศาลพระภูมิ

การไหว้ศาลพระภูมิ บางบ้านไหว้ทุกวัน และวันพระ หรือเมื่อมีงานสำคัญ ก็ต้องตั้งเครื่องสังเวย ต้องดูองค์ประกอบว่าตั้งศาลพระภูมิเดือนไหน ถึงจะถวายเครื่องสังเวยอะไร ถ้าเป็นเดือนเจ ก็ถวายอาหารเจ

ไหว้ศาลพระภูมิใช้ธูปกี่ดอก

พิธีสักการะไหว้ศาลพระภูมิทำได้ทุกวัน ด้วยการจุดธูป 9 ดอก

วิธีการตั้งศาลพระภูมิมีขั้นตอนและมีข้อปฏิบัติเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยอยู่อย่างสงบร่มเย็น ประกอบกิจการได้ดั่งใจหวัง แต่หากตั้งแล้วดูแลได้ไม่ดี ปฏิบัติล่วงเกินโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ก็จะเป็นผลเสียกับผู้ตั้งศาลมากกว่า เพราะฉะนั้นคนสมัยก่อนจึงแนะนำว่า ให้เลือกนำพระเข้าบ้าน (เรียกภูมิพระพุทธ) ก่อน ส่วนภูมิเจ้าที่จะตั้งหรือไม่ตั้งก็ได้

 
 

 

Visitors: 471,286