SPIRIT HOUSE ศาลพระภูมิ สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของคนไทย

ศาลพระภูมิ คืออะไร? 

ศาลพระภูมิในภาษาอังกฤษ คือ SPIRIT HOUSE

สำหรับเด็กรุ่นใหม่ หรือคนอื่น ๆ อาจจะไม่รู้ว่า ศาลพระภูมิ คืออะไร? วันนี้เราก็มีคำตอบมาให้! คือ ศาลพระภูมิ ถ้ามองเผิน ๆ ไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริง อาจจะมองว่าเป็น “สิ่งก่อสร้าง” ธรรมดาทั่วไป แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ คนไทยทั้งในสมัยก่อนและในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการสร้างศาลพระภูมิ เพราะมีความเชื่อสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน ว่ากันว่าสถานที่ใดก็ตามที่มีศาลพระภูมิจะช่วยให้สถานที่นั้น ๆ อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ปลอดภัย ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น

ความเชื่อเรื่องการตั้งศาลพระภูมิ ของคนไทย

การตั้งที่บ้านจะทำให้คนในบ้านมีความสุข อยู่บ้านแล้วจิตใจร่มเย็น สบาย ไม่มีปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง รวมถึง ปัญหาเรื่องของสุขภาพ สถานที่ หลาย ๆ คนมักจะมีความเข้าใจผิด ๆ ว่า การบูชาหรือการตั้งศาลพระภูมิ เปรียบเสมือนเป็นการไหว้ผี เลี้ยงผีไว้ในบ้าน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น! เพราะภายในศาลพระภูมิ  จะมีองค์เทพประทับ ช่วยเรื่องสิ่งลี้ลับ สิ่งที่มองไม่เห็น และปัดเป่าขับไล่วิญญาณร้ายไม่ให้ย่างกรายเข้ามาในบ้าน

สำหรับองค์เทพในศาลพระภูมิ ก็คือ พระภูมิ หรือ พระชัยมงคล เป็นโอรสองค์โตสุดของท่านท้าวทศราชชัยมงคล ที่มีโอรสทั้งหมด  9 องค์ ทุกพระองค์เป็นองค์เทพที่คอยดูแลสถานที่ ประกอบไปด้วย พระชัยมงคล, พระนครราช, พระเทเพล, พระชัยสพ, พระคนธรรพ์, พระธรรมโหรา, พระวัยทัต, พระธรรมมิกราช และ พระทาษธารา องค์เทพแต่ละองค์จะได้รับหน้าที่ในการดูแลสถานที่ ๆ แตกต่างกันออกไป เช่น ร้านค้า, บ้านเรือน, บึงน้ำ, ภูเขา, วัด, เมือง และอื่น ๆ ตามคำสั่งจากเบื้องบนสวรรค์ นั่นก็คือ “พระนารายณ์”

ศาลพระภูมิ สำคัญต่อที่อยู่อาศัยแค่ไหน? ทำไมต้องมี?

ต่อมาเรามาดูกันว่า ทำไมต้องมี “ศาลพระภูมิ”? สำคัญต่อที่อยู่อาศัยแค่ไหน? ที่จริงแล้วคำตอบของคำถามนี้ ไม่สามารถตอบได้ เพราะการตั้งศาลเป็นความต้องการและความตั้งใจของแต่ละคน แน่นอนว่าความคิดของคนเรา 100 คน 100 ความคิด จะมีความเชื่อที่ต่างกันออกไป บางคนก็บอกว่าไม่ต้องมีหรอก รกบ้าน เปลืองค่าใช้จ่าย บางคนก็บอกว่าคำบอกเล่าเป็นแค่คำโกหก แต่บางคนก็บอกว่าไม่มีไม่ได้! อันนี้ก็แล้วแต่ความคิดของคนว่าจะตัดสินใจอย่างไร ไม่มีใครสามารถบังคับหรือเปลี่ยนความคิดได้ทั้งนั้น

แต่ตามความเชื่อศาลพระภูมิ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งที่ควรให้ความเคารพและบูชา ตั้งไว้เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้ออกไปจากบ้าน ทั้งสิ่งที่มองเห็นก็ดีและสิ่งที่มองไม่เห็นก็ดี ปกป้องคุ้มครองเจ้าบ้าน และสมาชิกในบ้านรวมถึงบริวารทั้งหลายให้อยู่เย็นเป็นสุขมีความเจริญรุ่งเรืองในเรื่องต่าง ๆ เช่น สุขภาพ, การเรียน, การค้า-ขาย, การเงิน, การงาน และอื่น ๆ สามารถขอพรตามต้องการได้ เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ องค์เทพจะประทานพรและแผ่อานิสงส์ให้กับผู้ที่มีศรัทธาอย่างแท้จริง  

การตั้งศาลพระภูมิ ต้องทำอย่างไร ให้ถูกต้อง?

การตั้งศาลพระภูมิ ขั้นตอนแรกจะต้องมีผู้ชี้นำเพื่อให้ถูกหลักการตั้งตามพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น พระสงฆ์, พระเกจิ, ซินแส รวมถึง ผู้ที่มีความรู้มีศาสตร์วิชา เพื่อป้องกันไม่ให้ตั้งศาลในบริเวณที่ไม่สมควร หรือ บริเวณที่ผิดฮวงจุ้ยของบ้าน เพราะการตั้งศาลจะมีข้อห้ามและข้อแม้ค่อนข้างมาก ถ้าหากว่าตั้งผิดที่ผิดทางหรือผิดสมควร เมื่อถึงเวลาก็จะต้องรื้อใหม่ ทำใหม่ เพราะฉะนั้นการมีผู้ชี้นำจะดีกว่ามาก ส่วนมากแล้วเราจะเห็นผู้คนตั้งศาลพระภูมิไว้บริเวณหน้าบ้าน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่มีข้อแม้คือ บริเวณนั้นต้องสะอาด ไม่อยู่ใกล้ห้องน้ำ / ห้องครัว และ ถังขยะ การจัดวางที่ถูกต้องจะต้องตั้งทางทิศเหนือ หรือ ทิศใต้

ข้อควรระวังคือ “อย่าให้เงาของตัวบ้านบดบังทับศาลพระภูมิ” ห้ามหันหน้าศาลไปทางประตูเข้าบ้าน รวมถึงสถานที่อื่น ๆ ก็เช่นกัน ลองสังเกตว่าถ้าเป็นตึกสูง จะตั้งศาลไว้บริเวณชั้นดาดฟ้าเพื่อไม่ให้เงาของตัวอาคารมาบดบัง เพื่อความเป็นสิริมงคล ลักษณะของศาลพระภูมิ ไม่มีถูก ไม่มีผิด เพราะรูปแบบของศาลก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย จากเมื่อก่อนหลัก ๆ ศาลไม้ ในรูปแบบของบ้านทรงไทย แต่ตอนนี้ก็มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เช่น วิหาร, มณฑป, พระปรางค์  หรือ ปราสาทราชมณเฑียร สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการอยู่อาศัย เพียงแต่จะต้องจัดวางสิ่งของจำเป็นให้ถูกต้องและครบถ้วน ได้แก่ เจว็ดหรือรูปเทพารักษ์ประจำศาล และ บริวาร ประกอบไปด้วย ตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ ชาย–หญิง 1 คู่, ละครยก 2 โรง, ช้าง 1 คู่, ม้า 1 คู่, แจกันใส่ดอกไม้ 1 คู่, เชิงเทียน 1 คู่, กระถางธูป 1 ใบ, ผ้าผูกเจว็ด 1 ผืน, ผ้าพันศาล 1 ผืน และ ผ้าประดับศาลที่ประตูและหน้าต่าง ต้องมีโต๊ะสำหรับจัดวางของถวายให้ตั้งไว้บริเวณหน้าศาล

ในกรณีที่มีศาลพระภูมิอยู่แล้ว แต่ต้องการจะเปลี่ยนหรือย้าย ต้องทำอย่างไร ? คำตอบคือ ก่อนดำเนินการรื้อถอน / ย้าย หลังจากการดูที่ ๆ เหมาะสมแล้ว ต้องทำพิธีสังเวยพระภูมิล่างหน้า 3 วัน เพื่อการย้ายที่ถูกแบบแผนถูกต้องตามหลัก อย่าตัดสินใจเองต้องหาผู้รู้มาช่วยอีกแรง ในการบวงสรวงหรือยกศาลพระภูมิใหม่ หลังจากการก่อตั้งศาลพระภูมิ ที่ถูกต้องตามหลักและครบจบทุกขั้นตอนแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปต้องคอยดูแล ทำความสะอาด พยายามอย่าให้มีรอยแตก หัก หรือ พังบางจุด องค์ประกอบทั้งหลายจะต้องสะอาด ไม่มีฝุ่น ดอกไม้ที่วางจะต้องไม่เหี่ยวเฉา หรือ แห้ง อันไหนพังต้องเปลี่ยนและซ่อมทันที

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ การบูชา ศาลพระภูมิ!

เชื่อว่าทุกคนจะต้องเคยได้ยินคำว่า “ไหว้ศาล” กันมาบ้าง ในที่นี้ก็หมายถึงการบูชาศาลพระภูมิ ถวายเครื่องภัตตาหารเพื่อแสดงความนับถือ ความเคารพ ควรทำอย่างน้อยเดือนละครั้ง มีหลาย ๆ คนที่ทำผิดวิธีมาตลอด ในบทความนี้เลยรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ การบูชาศาลพระภูมิ ทำให้ถูกต้อง ควรทำอย่างไร? มาดูกัน

1.การจัดเตรียมของถวาย ต้องทำอย่างไร?

การจัดเตรียมของถวาย จะต้องประกอบไปด้วยอาหารและของบูชา เริ่มจากของบูชาจะประกอบไปด้วย ดอกไม้, พวงมาลัย,  ข้าวปากหม้อ ( ต้องใช้ข้าวที่หุงใหม่ ๆ ไม่ผ่านการบริโภค ไม่เป็นของเหลือ ) และสุดท้ายคือ แกง หรือ แกงจืด ในส่วนของคาวควรใช้เป็น หัวหมู, เป็ด, ไก่, กุ้ง, ปู, ปลาที่มีทั้งหัวและหาง ต่อมาคือส่วนของหวาน ของหวานที่สมควรแก่การถวายคือ ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, ขนมเม็ดขนุน, ขนมสีขาว–สีแดง, กล้วย, มะพร้าวน้ำหอมอ่อน และผลไม้ต่าง ๆ สำคัญ “ห้ามใช้ผลไม้ที่มีชื่ออัปมงคล” ได้แก่ มังคุด, ละมุด, พุทรา, น้อยหน่า, ระกำ, สละ, กระท้อน, ทุเรียน และ ลางสาด ห้ามเด็ดขาด

ในการเตรียมถ้าเป็นวันธรรมดาเป็นการบูชาทั่วไป ไม่ต้องใช้ของเยอะมากมายก็ได้ แต่ถ้าเป็นวันสำคัญเช่น วันปีใหม่, วันเกิด, วันตรุษจีน รวมถึง การแก้บนต่าง ๆ ควรเตรียมความพร้อมก่อนเสมอ พยายามอย่าใช้เครื่องของถวายที่ซ้ำเดิมเป็นประจำ เปลี่ยนหมุนเวียนตามความเหมาะสม สิ่งสำคัญก่อนถวายจะต้องสวดบทถวายเสมอ คือ นะโม เม ชะยะมังคะลัง ภูมิเทวานัง สักการะวันทะนัง สูปะพะยัญชะนะสัมปันนัง โภชะนานัง สาลีนัง สะปะริวารัง อุทะกัง วะรัง อาคัจฉันตุ ปะริภุญชันตุ สัพพะทา หิตายะ สุขายะ สันติเทวา มะหิทธิกา เตปิ ตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ

  1. ต้องใช้ธูปกี่ดอก?

จำนวนของ “ธูป” เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนสับสน เพราะการไหว้บูชาแต่ละแบบจะใช้จำนวนธูปที่ต่างกันออกไป สำหรับการบูชาศาลพระภูมิ จะต้องใช้ธูป 9 ดอก เท่านั้น ต้องไม่ขาดและไม่เกินกว่านี้

  1. คาถาบูชา ศาลพระภูมิ สวดอย่างไร?

 การขอพรบูชาจะต้องสวดให้ถูกต้อง เมื่อจุดธูปแล้วเรียบร้อยแล้ว พนมมือแนบชิดติดกัน ตามด้วยการตั้งนะโม 3 จบ และต่อด้วยการสวดคาถาบูชา มีหลายคาถา ดังนี้

  • ยัสสามุสสะระเณนาปิ อันตะลิกเขปิปาณิโน ปะติฎฐะมะธิคัจฉันติ ภูมิยังวิยะ สัพพะทา สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจราทิสัมภะวา คะณะนาณะจะ มุตตานัง ปะริตตันตัม ภะณามะเหฯ
  • ภูมมัสมิง ทิสาภาเค สันติภูมมา มหิทธิกา เตปิตุมเห อนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะจะ
  • ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะ มะตันทิโต สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ เอวะมาทิ คุณูปเปตัง ปะริตตันตัม ภะณามะเหฯ
  • สิโรเม ขอเดชะพระภูมิเทวารักษาที่ รับพระพรจากเจ้ากรุงพาลี ให้วัฒนาถาวรสิ่งสุขแด่ข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้า ( คำอธิษฐาน ) มั่งมีเงินทองและทรัพย์พัสดุข้าวของเนืองนอง โสตถิ ชัยยะ ภะวันตุ เม

สามารถเลือกสวดคาถาใดคาถาหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องสวดทุกคาถา

  1. คาถาขอขมา ศาลพระภูมิ ต้องสวดอย่างไร?

เมื่อมีการทำผิดแม้ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตามจะต้องสวดขอขมาต่อองค์เทพ ดังนี้ ตั้งนะโม 3 จบ ตามด้วย อิติสุขะโต อะระหังพุทโธ นะโม พุทธายะ ปฐวีคงคา พระภูมิเทวา ขะมามิหัง บทขอขมาสามารถใช้ในกรณีที่ศาลพระภูมิ หัก แตก หรือ ชำรุดได้เหมือนกัน

  1. คาถาต่าง ๆ ต้องสวดกี่จบ?

การสวดคาถาต่าง ๆ สามารถสวด 1 จบ ได้ แต่ใครที่มีเวลามากเพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคล ควรสวดตามกำลังวันเกิด ดังนี้ ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ สวด 6 จบ, ผู้ที่เกิดวันจันทร์ สวด 15 จบ, ผู้ที่เกิดวันอังคาร สวด 8 จบ, ผู้ที่เกิดวันพุธ สวด 17 จบ, ผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี สวด 19 จบ, ผู้ที่เกิดวันศุกร์ สวด 21 จบ และ ผู้ที่เกิดวันเสาร์ สวด 10 จบ

หวังว่าในบทความนี้จะเป็นประโยชน์และมอบความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับศาลพระภูมิ ให้กับทุกคน อย่าลืมเอาไปปฏิบัติตามเพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งต่อตัวเองและคนที่รัก แล้วชีวิตจะมีความสุข ให้องค์เทพปกปักรักษาบันดาลให้เกิดสิริมงคลและลาภผลตามที่ปรารถนาทุกประการ เทอญ

 

ขอบพระคุณข้อมูลจาก www.ananda.co.th

Visitors: 499,350